เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ได้ประกาศ “สรุปผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ขยายผลเพิ่มเติม (Extended-Scope Special Audit) ระยะที่สอง (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1)" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Harper and Hazel เลยจะมาสรุปในแบบย่อยง่ายๆให้อ่านกันครับ
1. บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)
1.1 การใช้เงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้
ผู้สอบบัญชีพบความผิดปกติ แต่ยังตรวจสอบไม่เสร็จ ทำให้ยังสรุปไม่ได้การนำเงินจากหุ้นกู้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่
1.2 การใช้เงินเพิ่มทุนที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด ( Private Placement)
ผู้สอบบัญชีพบว่า STARK ได้นำเงินไปชำระ Letter of credit สำหรับเจ้าหนี้การค้า และชำระคืนหุ้นกู้ ชุดที่ 3 ตามที่ปรากฏในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี2565
2. บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอรเนชั่นแนล (ไทยแลนด) จำกัด (PDITL) (บริษัทย่อยของ STARK)
ผู้สอบบัญชีพบ การทำรายการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริง, ไม่ปรากฎเอกสารการขาย, บันทึกรับชำระหนี้จากบริษัทหรือบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้, รายการขายไม่สามารถตรวจสอบชื่อผู้โอนเงินได้, ไม่มีการยืนยันรับสินค้าจากลูกค้า, ไม่มีเอกสารประกอบการสั่งซื้อ, มีการโอนเงินให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้มีการซื้อ-ขายวัตถุดิบจริง แต่การโอนจริงๆกลับเป็นการโอนเงินให้บริษัทที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้ขายวัตถุดิบ, รับเงินจากบริษัทที่ไม่มีธุรกรรมระหว่างกัน, มีการรับเงินแต่บันทึกบัญชีไม่ตรงกับธุรกรรมที่เกิดขึ้น, ไม่มีการบันทึกรายการเงินให้กู้ยืม
รายการลักษณะแบบนี้ก่อให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ปี 2564-2565 ประมาณ 12,000 ล้านบาท
3. บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอรเนชั่นแนล จำกัด (TCI) (บริษัทย่อยของ STARK)
ไม่มีหลักฐานการส่งสินค้าให้กับลูกค้า, รับชำระเงินจากผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า, ออกใบแจ้งหนี้ให้โอนเงินเข้าบัญชีของบุคคธรรมดา, บันทึกเพิ่มสินค้าคงเหลือ โดยไม่มีการรับมอบสินค้าคงเหลือ
โดยรวมรายการลักษณะนี้ก่อความเสียงหายประมาณ 7,000 ล้านบาท
4. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) (บริษัทย่อยของ STARK)
มีการรับรู้รายได้ รายได้ค้างรับ ลูกหนี้การค้า แต่ไม่มีหลักฐานประกอบ, บันทึกต้นทุนค่าแรงและต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีหลักฐานประกอบ เช่นกัน
โดยรวมทำให้มีการรับรู้รายได้ค้างรับสูงกว่าความเป็นจริง 800 ล้านบาท(ปี 2564-2565) และมีลูกหนี้การค้าสูงกว่าความเป็นจริง 800 ล้านบาท(ปี 2565)
นั่นคือเนื้อความแบบย่อๆ ที่เราสรุปมาให้ครับ
เอ๊ะ! .... แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดยปกติความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากกระบวนการขายไปจนถึงการรับเงินจากลูกค้า เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานมาก เช่น ฝ่ายขาย, ฝ่ายคลังสินค้า, ฝ่ายขนส่ง, ฝ่ายบัญชีการเงิน เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสารที่ตนเองรับผิดชอบอยู่แล้ว
เรียกได้ว่า ถ้าเอกสารครบ โอกาสที่จะเกิดขึ้นแทบไม่มี แต่ถ้ามี! ก็ต้องมีการรู้เห็นเป็นใจกันตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ
แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติแบบนี้ได้อย่างไร?
ต้องมีการนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ที่มีการวางระบบการควบคุมภายในที่ดี มาใช้ในการปฏิบัติงานทั้งองค์กร ซึ่งระบบ ERP ก็มีมากมายหลายยี่ห้อ เช่น SAP, Navision, Compu Power, Netsuite เป็นต้น ซึ่งแต่ละธุรกิจก็สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสม
แล้วระบบ ERP ดีอย่างไร...ช่วยอะไรได้?
การนำระบบ ERP มาใช้ เป็นการบังคับให้พนักงานปฏิบัติตาม Work Flow ที่มีการวางการควบคุมภายในไว้แล้ว และเอกสารต่างๆที่สำคัญก็จะออกจากระบบเท่านั้น พนักงานไม่สามารถทำโดยพละการได้ เช่น Sale Order, ใบส่งของ, ใบแจ้งหนี้, ใบเสร็จรับเงิน, การบันทึกบัญชี ฯลฯ และรวมถึงต้องได้รับการอนุมัติรายการจากผู้มีอำนาจตามอำนาจดำเนินการของบริษัท
ซึ่งระบบ ERP จะทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีการลัดขั้นตอนการทำงาน หรือออกเอกสารรับเงิน หรือจ่ายเงิน โดยไม่มีการอนุมัติหรือมีเอกสารประกอบไม่ครบ
แต่กรณีของ STARK อาจไม่เกี่ยวข้องกับการไม่มีระบบ ERP
เพราะ STARK เป็นบริษัท มหาชน ซึ่งต้องผ่านการรับรองการควบคุมภายในมาอย่างดี ถึงจะสามารถ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ และระบบ ERP ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่บริษัทระดับนี้ต้องมีอยู่แล้ว
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคาดว่าน่าจะเกิดจาก “การมีระบบ แต่ไม่มีการปฏิบัติตามระบบ”
ระบบ ERP และกระบวนการควบคุมภายในที่บริษัทนำมาใช้ จะไม่ได้ผลเลย หาก “คน” ไม่ทำตามระบบ เช่น การทำเอกสารแบบ Manual นอกระบบ, การทำจ่ายเงินนอกระบบ หรือบันทึกรับเงินแบบดื้อๆ ลอยๆขึ้นมา โดยไม่มีเอกสารขายใดๆ
แล้วถ้ามองในมุมที่เราเป็นผู้ตรวจสอบภายใน เวลาไปตรวจสอบต้องดูอะไรบ้างล่ะ?
หนึ่งในประเด็นที่สำคัญ คือมีการเอกสารที่ถูกจัดทำนอกระบบหรือไม่ เพราะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะสูงมาก เช่น ถ้าจัดเก็บเอกสารไม่ดี ไม่ครบ จะไม่สามารถยืนยันได้เลยว่า มีการรับเงินหรือจ่ายเงินให้ใครไปแล้วเท่าไหร่บ้าง และที่แน่ๆ คือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทอย่างชัดเจน
คราวนี้เราลองมาดูประเด็นที่ผู้สอบบัญชีตรวจพบกันบ้าง
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเด็นเรื่องความมีอยู่จริงของการทำรายการทั้งกระบวนการรับเงิน และจ่ายเงิน เช่น รายการขายที่ไม่มีอยู่จริง, ไม่มีเอกสารประกอบการขาย, ลูกหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง, ไม่ได้รับเงินจริง, ไม่มีการซื้อ-ขายจริง, การรับเงินมาจากบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
ซึ่งตอนไปตรวจสอบ เราควรดูเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในชุดเอกสารใบสำคัญรับ และชุดเอกสารใบสำคัญจ่ายอยู่แล้ว เช่น
ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี (ต้องระบุเลขที่ Sale Order, ชื่อลูกค้า, มูลค่า ให้ถูกต้องตรงกัน)
ใบแจ้งหนี้ (ต้องระบุเลขที่ Sale Order, เลขที่ใบสั่งซื้อ, ชื่อลูกค้า, มูลค่า, เลขที่บัญชีธนาคารของบริษัท ให้ถูกต้องตรงกัน)
Bank Statement (ต้องมีการแนบสำเนาให้ผู้อนุมัติรายการทราบและระบุได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ได้รับจากลูกค้าและการขายรายการใด)
ใบสั่งซื้อจากลูกค้า/สัญญาซื้อขาย (ระบุชื่อลูกค้า, สินค้า/บริการ, ราคาสินค้า/บริการ ที่ถูกต้องตรงกัน และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามอำนาจดำเนินการของบริษัท)
ใบเสนอราคา/ใบเปรียบเทียบราคา (ระบุชื่อลูกค้า, สินค้า/บริการ, ราคาสินค้า/บริการ, ระยะเวลาการยืนราคา, ผู้อนุมัติ)
ใบเบิกสินค้าจากคลัง, ใบชั่งน้ำหนัก, การตรวจสอบบรรจุ (ระบุเลขที่ Sale Order, ใบสั่งซื้อ, Location, น้ำหนักสินค้า, จำนวนสินค้า, ผู้อนุมัติ)
ใบส่งสินค้า (ต้องมีการลงนามรับของจากลูกค้า เพื่อใช้ยืนยันว่ามีการส่งของจริง)
ความมีตัวตนจริงของลูกหนี้/เจ้าหนี้ และบุคคลธรรมดาที่ไม่เกี่ยวข้อง (เราสามารถส่งหนังสือยันความเป็นเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ เพื่อให้เขายืนยันกลับมา ว่าเขาเป็นเจ้าหนี้/ลูกหนี้เราจริงๆ อีกทั้งการ Create ลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ในระบบ ต้องใช้เอกสารที่สำคัญ เช่น หนังสือรับรองบริษัท เพื่อยืนยันว่ามีตัวตนจริง)
ความมีอยู่จริงของสินค้าคงเหลือ (ต้องมีการตรวจนับประจำปีอย่างสม่ำเสมอ กำหนดมาตรฐาน Loss/Gain รวมถึงมีผู้ร่วมสังเกตุการณ์จากภายนอก เช่น ผู้สอบบัญชี เป็นต้น)
หลักฐานประกอบการซื้อ-ขายเหล่านี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องตรวจสอบ เพื่อให้ความเชื่อมั่นได้ว่ารายการซื้อ-ขายได้เกิดขึ้นจริง มีการปฏิบัติตามขั้นตอน และอำนาจดำเนินการของบริษัทอย่างถูกต้อง
ขอบคุณที่อ่านกันมาจนถึงตรงนี้ครับ.... แล้วพบกันในบทความต่อไปครับ
Link ข่าวจาก SET : https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/newsdetails?id=83842301&symbol=STARK
ติดต่อสอบถามการให้บริการงานตรวจสอบภายในของ Harper and Hazel ได้ที่ Line : @harperandhazel
เป็นเพื่อนกับเราบน Facebook : Harper&Hazel
รู้จักเราให้มากขึ้น : www.harperandhazel.com
อ่านบทความอื่นๆใน IA Forum ที่เราตั้งใจเขียนเพื่อคุณ : https://www.harperandhazel.com/blog
#ตรวจสอบภายใน #ควบคุมภายใน #internalaudit #internalcontrol #harperandhazel #stark #ผู้สอบบัญชี
コメント